ที่มาของนาฏศิลป์ไทย
ที่มาของนาฏศิลป์ไทย
ที่มาของนาฏศิลป์ไทยเข้าใจว่าเกิดจากสภาพความเป็นอยู่โดยธรรมชาติของมนุษย์โลกที่มีความสงบสุข มีความอุดมสมบูรณ์ในทางโภชนาหาร มีความพร้อมในการแสดงความยินดี จึงปรากฏออกมาในรูปแบบของการแสดงอาการที่บ่งบอกถึงความกำหนัดรู้ ดังนั้นเมื่อประมวลที่นักวิชาการเทียบอ้างตามแนวคิดและทฤษฎี จึงพบว่าที่มาของนาฏศิลป์ไทยเกิดจากแหล่ง ๓ แหล่ง คือ เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ เกิดจากการเซ่นสรวงบูชา และเกิด
จากการรับอารยะธรรมของประเทศอินเดีย ดังนี้
๑. เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ หมายถึง เกิดตามพัฒนาการของความเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มชน ซึ่งพอประมวลความแบ่งเป็นขั้น ได้ ๓ ขั้น ดังนี้
ขั้นต้น เกิดแต่วิสัยสัตว์ เมื่อเวทนาเสวยอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาก็ตาม ถ้าอารมณ์แรงกล้าไม่กลั้นไว้ได้ ก็แสดงออกมาให้เห็นปรากฏ เช่น เด็กทารกเมื่อพอใจ ก็หัวเราะตบมือ กระโดดโลดเต้น เมื่อไม่พอใจก็ร้องไห้ ดิ้นรน
ขั้นต่อมา เมื่อคนรู้ความหมายของกิริยาท่าทางมากขึ้น ก็ใช้กิริยาเหล่านั้นเป็นภาษาสื่อความหมาย ให้ผู้อื่นรู้ความรู้สึกและความประสงค์ เช่น ต้องการแสดงความเสน่หาก็ยิ้มแย้ม กรุ้มกริ่มชม้อยชม้ายชายตา หรือโกรธเคืองก็ทำหน้าตาถมึงทึง กระทืบ กระแทก เป็นต้น
ต่อมาอีกขั้นหนึ่งนั้น เมื่อเกิดปรากฏการณ์ตามที่กล่าวในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ แล้วมีผู้ฉลาดเลือกเอากิริยาท่าทาง ซึ่งแสดงอารมณ์ต่างๆ นั้นมาเรียบเรียงสอดคล้อง ติดต่อกันเป็นขบวนฟ้อนรำให้เห็นงาม จนเป็นที่ต้องตาติดใจคน จนเกิดเป็นวิวัฒนาการของนาฏศิลป์ที่สวยงามตามที่เห็นในปัจจุบัน
๒. เกิดจากการเซ่นสรวงบูชา หมายถึง กระบวนการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มชน ซึ่งพบว่าการเซ่นสรวงบูชา มนุษย์แต่โบราณมามีความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการบูชา เซ่นสรวง เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทานพรให้ตนสมปรารถนา หรือขอให้ขจัดปัดเป่าสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาให้สิ้นไป การบูชา มีวิธีการตามแต่จะยึดถือมักถวายสิ่งที่ตนเห็นว่าดีหรือที่ตนพอใจ เช่น ข้าวปลาอาหาร ขนมหวาน ผลไม้ ดอกไม้ จนถึง การขับร้อง ฟ้อนรำ เพื่อให้สิ่งที่ตนเคารพบูชานั้นพอใจ ต่อมามีการฟ้อนรำบำเรอกษัตริย์ด้วย ถือว่าเป็นสมมุติเทพที่ช่วยบำบัดทุกข์
บำรุงสุขให้ มีการฟ้อนรำรับขวัญขุนศึกนักรบผู้กล้าหาญ ที่มีชัยในการสงครามปราบข้าศึกศัตรู ต่อมาการฟ้อนรำก็คลายความศักดิ์สิทธิ์ลงมา กลายเป็นการฟ้อนรำเพื่อความบันเทิงของคนทั่วไป
๓. การรับอารยะธรรมของอินเดีย หมายถึง อิทธิพลของประเทศเพื่อนบ้านจากประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ยาวนานว่า เมื่อไทยมาอยู่ในสุวรรณภูมิใหม่ๆ นั้น มีชนชาติมอญ และชาติขอมเจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนแล้ว ชาติทั้งสองนั้นได้รับอารยะธรรมของอินเดียไว้มากมาย
เป็นเวลานาน เมื่อไทยมาอยู่ในระหว่างชนชาติทั้งสองนี้ ก็มีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด ไทยจึงพลอยได้รับอารยะธรรมอินเดียไว้หลายด้าน เช่น ภาษา ประเพณี ตลอดจนศิลปะการแสดง ได้แก่ ระบำ ละครและโขน ซึ่งเป็นนาฏศิลป์มาตรฐานที่สวยงามดังปรากฏให้เห็นนี้เอง
นอกจากนี้แล้วการสร้างนาฏศิลป์ไทยของเรานี้อาจด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น
๑. จัดทำขึ้นเพื่อการสื่อสาร หมายความถึง การแสดงนั้นอาจบ่งบอกชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์ที่ดี ทั้งทางด้านการแต่งกาย ภาษา ท่วงทีที่แช่มช้อย นอกจากนี้แล้วในการสื่อสารอีกทางนั้น
คือนาฏศิลป์ได้พัฒนาจากรูปลักษณ์ที่ง่าย
และเป็นส่วนประกอบของคำพูดหรือวรรณศิลป์ ไปสู่การสร้างภาษาของตนเองขึ้นที่เรียกว่า “ภาษาท่ารำ” โดยกำหนดกันในกลุ่มชนที่ใช้นาฏศิลป์นั้นๆ ว่าท่าใดมีความหมายอย่างไร เป็นต้น
๒. เพื่อประกอบพิธีกรรม ดังที่ได้กล่าวอ้างเรื่องการเซ่นสรวงไปแล้วในเบื้องต้น ว่ากระบวนทัศน์ในเรื่องการฟ้อนรำนั้นกระแสสำคัญอีกกระแสหนึ่ง คือเรื่องความเชื่อ ความศรัทธาในสิ่งที่มองไม่เห็น นอกจากนี้แล้วอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของคนไทยอีกประการนั้นคือ การสำนึกกตัญญู
รู้คุณต่อผู้มีพระคุณ เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือบรรพชนที่ควรเคารพ อาจมีการจัดกิจกรรมขึ้นแล้วมีการร่วมแสดงความยินดีให้ปรากฏนักนาฏศิลป์หรือ ศิลปินที่มีความชำนาญการจะประดิษฐ์รูปแบบการแสดงเข้าร่วมเพื่อความบันเทิง และเพื่อแสดงออกซึ่งความรักและเคารพในโอกาสพิธีกรรมต่างๆ ก็ได้
๓. เพื่องานพิธีการที่สำคัญ กล่าวคือเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยี่ยมเยือน ทั้งนี้เราจะเห็นว่าในประวัติของชุดการแสดง ๆ ชุด เช่น ระบำกฤดาภินิหาร การเต้นรองเง็ง หรืออื่นๆ การจัดชุดการแสดงส่วนใหญ่นั้นจัดเพื่อต้อนรับแขกคนสำคัญ เพื่อบ่งบอกความยิ่งใหญ่ของความเป็นอารยะชนคนไทย ที่มีความสงบสุขมาเป็นเวลาหลายปี แล้วเรามีความเป็นเอกลักษณ์
ภายใต้การปกครองที่ดีงามมาแต่อดีต ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมการแสดงในครั้งนี้อาจมีอย่างหลากหลาย เพื่อเป็นสิริมงคลด้วยก็ได้
๔. เพื่อความบันเทิงและการสังสรรค์ ตามนัยที่กล่าวนี้พบว่าในเทศกาลต่าง ๆ ทั้งที่เป็นประเพณีของคนไทยมีมากมาย เช่น งานปีใหม่ ตรุษสงกรานต์ ลอยกระทง วันสาร์ท เป็นต้น
เมื่อรวมความแล้วเราพบว่ากิจกรรมที่หลากหลายนี้มีบางส่วนปรากฏเป็นความบันเทิงมีความสนุกสนานรื่นเริง เช่น อาจมีการรำวงของหนุ่มสาว หรือความบันเทิงอื่น ๆ บนเวทีการแสดง นอกจากนี้อาจรวมถึงการออกกำลังกายในสถานการณ์ต่าง ๆ เราพบว่าปัจจุบันนี้จาก
ประสบการณ์จัดกิจกรรมมักเกิดเป็นรูปแบบการแสดงที่สวยงามตามมาด้วยเช่นเดียวกัน
๕. เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่ นาฏศิลป์เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชน ในชุมชนหนึ่งๆ มักมีการสืบทอด และอนุรักษ์วัฒนธรรมทางนาฎศิลป์ของตนเอาไว้มิให้สูญหาย มีการสอนมีการแสดง และเผยแพร่นาฏศิลป์ไทยให้ท้องถิ่นอื่น หรือนำไปเผยแพร่ในต่างแดน
สันนิษฐานว่านาฏศิลป์ไทยกำเนิดมาพร้อม ๆ กับความเป็นชนชาติไทย ที่เป็นเช่นนี้เพราะนาฏศิลป์ไทยเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การแต่งกาย และคติความเชื่อของคนไทยในอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งนี้อาจสรุปได้ว่า นาฏศิลป์ไทยน่าจะมีที่มาจาก 4 แหล่ง ดังนี้
1 จากการละเล่นของชาวบ้านในท้องถิ่น หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวัน ชาวบ้านมักหาเวลาว่างมาร่วมร้องรำทำเพลง โดยมีการนำเอาดนตรีมาประกอบด้วย และ ตามนิสัยของคนไทยที่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ชอบร้องรำทำเพลงโต้ตอบระว่างชายหญิงจนเกิดเป็นพ่อเพลง แม่
เพลงขึ้น โดยมีลูกคู่คอยร้องรับกันเป็นที่สนุกสนานครื้นเครง ทั้งนี้อาจจะเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้ลืมความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังมีการร้องรำกันเป็น
คู่ชายหญิงเดินเป็นวง หรือเป็นที่รู้จักกันว่ารำโทนหรือรำวงพื้นบ้านจากการละเล่นของชาวบ้านดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดการแสดงนาฏศิลป์ไทยประการหนึ่ง
2 จากการแสดงเป็นแบบแผน นาฏศิลป์ไทยที่เป็นมาตรฐานเป็นนาฏศิลป์ที่มีการปลูกฝังและถ่ายทอดมาจากปรมาจารย์ทางนาฏศิลป์ไทยในวังหลวง ที่ฝึกให้แก่ผู้หญิงและผู้ชายที่อยู่ในวังเป็นผู้แสดงโขนและละคร เพื่อแสดงในโอกาสต่าง ๆ
3 จากการรับอารยธรรมของอินเดีย ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่โบราณกาล โดยเฉพาะละครในอินเดียรุ่งเรืองมาก ประกอบกับชนชาติอินเดียที่นับถือและเชื่อมั่นในศาสนา พระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธ์ต่าง ๆ พระผู้เป็นเจ้าที่
ชาวอินเดียนับถือ ได้แก่ พระศิวะ(พระอิศวร) พระวิษณุ และพระพรหม ในบางยุคของชาวอินเดียถือว่า พระอิศวรเป็นเทพเจ้าที่มีผู้เคารพนับถือมากยุคนี้ถือว่าพระอิศวรทรงเป็นนาฏราช(ราชาแห่งการร่ายรำ) มีประวัติทั้งในสวรรค์และในเมืองมนุษย์ ในการร่ายรำของพระอิศวรแต่ละครั้ง
พระองค์ทรงให้พระภรตฤาษีเป็นผู้บันทึกท่ารำแล้วนำมาสั่งสอนแก่เหล่ามนุษย์ จนเป็นที่มาของตำนานการฟ้อนรำ และในการเรียนนาฏศิลป์ไทยผู้เรียนทุกคนจะต้องเข้าพิธีไหว้ครูโขน – ละครก่อน ซึ่งได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระพิราพ และพระภรตฤาษี อันเป็นครูทางนาฏศิลป์และเป็นเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ และ ศาสนาฮินดู
4 จากการเลียนแบบธรรมชาติ กิริยาท่าทางตามธรรมชาติของมนุษย์จะบ่งบอกความหมายและสื่อความหมายกับผู้อื่นได้ควบคู่กับการพูด ในการฟ้อนรำก็จะใช้ท่ารำสื่อความหมายกับผู้ชมเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่า การแสดงบางชุดไม่มีเนื้อเพลง แต่มีทำนองเพลงอย่างเดียวผู้แสดงก็จะฟ้อนรำไปตามทำนองเพลงนั้น ๆ ลีลาท่ารำเป็นท่าทางธรรมชาติที่ใช้สื่อความหมาย ด้วย
เหตุผลที่ว่าต้องการให้ผู้ชมเข้าใจความหมายในการรำ และใช้ท่ารำในการดำเนินเรื่องด้วย ถึงแม้ว่าท่ารำส่วนใหญ่จะมีลีลาสวยงามวิจิตรกว่าท่าทางธรรมชาติไปบ้าง แต่ก็็ยังคงใช้ท่าทางธรรมชาติเป็นพื้นฐานในการประดิษฐ์ท่ารำและเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมบ่งบอกความหมายได้ถูกต้อง
นาฏศิลป์ หมายถึง ศิลปะของการฟ้อนรำ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยความประณีตงดงาม เพื่อให้ความบันเทิงให้ผู้ที่ได้ดูมีความรู้สึกคล้อยตาม การร่ายรำนี้ต้องอาศัยเครื่องดนตรีและการขับ
ร้อง นาฏศิลป์ถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง และเป็นสาขาหนึ่งของศิลปะสาขาวิจิตรศิลป์นาฏศิลป์ถือเป็นแหล่งรวมศิลปะและการแสดงไว้ด้วยกัน โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการคิดสร้างสรรค์ อนุรักษ์และสืบทอดต่อไป
ประวัติความเป็นมาของนาฏศิลป์ไทย
นาฏศิลป์ไทย เป็นศิลปะแห่งการฟ้อนรำ ที่มีสมมติฐานมาจากธรรมชาติ แต่ได้รับการตกแต่งและปรับปรุงให้งดงามยิ่งขึ้น จนก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้ดูผู้ชม โดยแท้จริงแล้วการฟ้อนรำก็คือ ศิลปะของการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น แขน ขา เอว ไหล่ หน้าตา ฯลฯ ด้วย
เหตุนี้ธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการฟ้อนรำจึงมาจากอิริยาบทต่าง ๆ ของมนุษย์ ได้แก่ ยืน เดิน นั่ง นอน ฯลฯ ตามปกติการเดินของคนเราจะก้าวเท้าพร้อมทั้งแกว่งแขนสลับกันไปเช่นเมื่อก้าวเท้าซ้ายก็จะแกว่งแขนขวาออก และเมื่อก้าวเท้าขวาก็จะแกว่งแขนซ้ายออกสลับกันเพื่อ
เป็นหลักในการทรงตัว ครั้นเมื่อนำมาตกแต่งเป็นท่ารำขึ้น ก็กลายเป็นท่าเดินที่มีลีลาการก้าวเท้าและแกว่งแขน ให้ได้สัดส่วนงดงามถูกต้องตามแบบแผนที่กำหนด ตลอดจนท่วงทำนองและจังหวะเพลง
นาฏศิลป์ไทย เกิดมาจากอากัปกิริยาของสามัญชนเป็นพื้นฐาน ซึ่งโดยทั่วไปมนุษย์ทุกคนย่อมมีอารมณ์ต่าง ๆ ได้แก่ รัก โกรธ โศกเศร้า เสียใจ ดีใจ ร้องไห้ ฯลฯ แต่ที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อมนุษย์มี
อารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น นอกจากจะมีความรู้สึกเกิดขึ้นในจิตใจแล้วยังแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ออกมาทางกายในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น
รัก – หน้าตากิริยาที่แสดงออก อ่อนโยน รู้จักเล้าโลม เจ้าชู้
โกรธ – หน้าตาบึ้งตึง กระทืบเท้า ชี้หน้าด่าว่าต่าง ๆ
โศกเศร้า,เสียใจ – หน้าตากิริยาละห้อยละเหี่ย ตัดพ้อต่อว่า ร้องไห้